แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง: มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศไทย


สวัสดีครับ ทุกคน ผมเพิ่งมีโอกาสได้กลับมาเขียนบล็อกอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปเป็นเวลานานพอสมควร ช่วงนี้ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยว ทางภาคอีสานเหนือของประเทศไทยกับครอบครัวมาครับ มีหลายๆที่ที่สวยงามและน่าประทับใจมาก และที่หนึ่งที่ผมอยากนำมาเขียนถึงก็คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี นั่นเองครับ ซึ่งหลายคนคงทราบดีว่า ที่แห่งนี้คือสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูล ของหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากๆ จากพื้นที่ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก UNESCO ทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา สถานที่นี้มีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศไทยเราบ้าง วันนี้จะมาเล่ารายละเอียดให้ฟังกันครับ


การค้นพบครั้งสำคัญ

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2509 นักศึกษาสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ สตีเฟน ยัง ได้เดินทางไปยังบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เพื่อหาข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี ว่าด้วยเรื่องการเมืองในหมู่บ้านท้องถิ่น ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในระหว่างที่เขากำลังเดินอยู่บนพื้นดิน ที่มีการขุดพื้นที่เพื่อทำถนนนั้น เขาได้เดินสะดุดรากต้นนุ่น จนล้มลงกับพื้น ทันใดนั้นเมื่อกำลังลุกขึ้นยืน ก็พลันสังเกตเห็นว่ารอบๆนั้น เต็มไปด้วยเศษชิ้นของเครื่องปั้นดินเผาสีแดง กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด มันมีลวดลายสวยงาม แบบที่ไม่เคยพบเห็น และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ก็ดูจะไม่ได้สนใจ กับเศษเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้น สตีเฟนซึ่งเป็นลูกชายของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยในขณะนั้น จึงนำสิ่งที่เขาค้นพบที่บ้านเชียง กลับมาที่กรุงเทพ เพื่อให้ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี นักโบราณคดี และภัณฑารักษ์ของกรมศิลปากร ทำการตรวจวิเคราะห์ จึงเป็นจุดเริ่มต้น ของการร่วมมือขุดค้นครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่างกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ในปี พ.ศ. 2518 นำโดยหัวหน้าทีมขุดค้น คือ ดร. เชสเตอร์ กอร์แมน 

หลังจากได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่นี่ ชื่อของบ้านเชียงก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะแหล่งที่อยู่อาศัย ของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการตั้งหลักแหล่งแบบถาวร และมีพัฒนาการสืบต่อมาอีกหลายพันปี


ประวัติพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้น หลังจากการทอดพระเนตร การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัว ของคนในท้องถิ่น ที่จะปกป้องพื้นที่และหลักฐานทางโบราณคดี อันมีค่าของประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือ ของพวกลักลอบค้าโบราณวัตถุ เพื่อพัฒนาให้เป็น แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป โดยสร้างขึ้นภายใต้ความดูแลของกรมศิลปากร จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2518 ห่างจากสถานที่ขุดค้นจริง ที่ถูกปรับปรุงรักษา และพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ออกไปไม่ไกลประมาณ 900 เมตร


ลำดับการดำเนินงานทางโบราณคดี

- พ.ศ. 2500 นายบรรลุ มนตรีพิทักษ์ แพทย์ประจำตำบลบ้านเชียง ได้ทำการขุดหลุม เพื่อสร้างห้องน้ำในบริเวณบ้าน ใกล้วัดโพธิ์ศรีใน และได้พบภาชนะดินเผาตกแต่ง ลายเขียนสีแดงสภาพสมบูรณ์ 3 ใบ จึงนำไปมอบให้ นายพรมมี ศรีสุนาครัว ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียง เก็บรักษาไว้ที่ห้องพักครู จากนั้นจึงรวบรวมโบราณวัตถุ ประเภทภาชนะดินเผา ที่ค้นพบในหมู่บ้าน มาจัดแสดงให้ผู้มาเยี่ยมได้ชม

- พ.ศ. 2503 การเริ่มต้นการสำรวจทางโบราณคดี โดยกรมศิลปากร นำโดย นายเจริญ พลเตชา ผู้เป็นหัวหน้าหน่วยสำรวจ

- พ.ศ. 2509 การค้นพบโดยบังเอิญของนายสตีเฟ่น ยัง ท่ีนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงอย่างจริงจัง ในเวลาต่อมา

- พ.ศ. 2510 นายวิทยา อินทโกศัย นักโบราณคดีของกรมศิลปากร ทำการขุดทดสอบ ในที่ดินของนายสิทธา ราชโหดี ชาวบ้านตำบลบ้านเชียง และได้มีการส่งเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบ ไปทดสอบอายุด้วยวิธีการเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย โดยได้ค่าเฉลี่ยประมาณ 7000-5000 ปีมาแล้ว 

- พ.ศ. 2515 ได้มีการขุดค้นที่บ้านเชียงอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาทอดพระเนตร ด้วยพระองค์เอง โดยมีการค้นพบโบราณวัตถุ ประเภทเครื่องใช้สำริดอีกเป็นจำนวนมาก
 


ขั้นตอนการปฏิบัติงานทางโบราณคดี

- สำรวจหาพื้นที่ขุดค้น ซึ่งมีข้อจำกัดในการเลือกพื้นที่ เพราะมีการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นอยู่ก่อนหน้า จึงต้องขุดในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต หรือพื้นที่ว่างเท่านั้น 

- วางผังหลุมขุดค้น เพื่อกำหนดพื้นที่ด้วยเชือกล้อม และอ้างอิงตำแหน่งหลุมขุด เพื่อการบันทึกข้อมูล

- ขุดค้นหลุมด้วยเกรียง เมื่อค้นพบโบราณวัตถุ ก็ใช้เครื่องมือทันตแพทย์ ค่อยๆแต่งเอาดินออก เพื่อให้เห็นรายละเอียดของวัตถุ จากนั้นจึงบันทึกข้อมูล และเก็บรวบรวมวัตถุ โดยจะขุดต่อไป จนกว่าจะถึงชั้นดิน ที่ไม่พบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์

- เก็บข้อมูลโบราณวัตถุ โดยการถ่ายภาพ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือบอกมาตราส่วน แผ่นป้ายบอกแหล่งขุดค้น และหลุมขุดค้น ชั้นดินที่พบ และวันเดือนปีที่ถ่ายภาพ อีกทั้งยังมีการวาดภาพ เพื่อเก็บข้อมูลบนกระดาษกราฟ โดยถ่ายแบบจากผังหลุมขุดค้น หรือขึงเชือกไว้เหนือสิ่งที่จะวาด เป็นช่องตารางตัดกัน เพื่อวัดขนาด และตำแหน่งให้ถูกต้องที่สุด

- การทำความสะอาด และเก็บรักษาเศษภาชนะโบราณวัตถุ ต้องทำอย่างละเอียดละออ ด้วยการนำไปล้างน้ำ และขัดถูเบาๆด้วยแปรง หรือนิ้วมือ แล้วทำให้แห้ง ก่อนแยกเก็บในถุงผ้า ตามชั้นดินที่พบ ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆที่พบ จะต้องทำความสะอาด โดยผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการ

- แยกประเภทโบราณวัตถุ โดยแยกตามชั้นดินที่พบ ก่อนจะแยกตามลักษณะสี รูปทรง และการตกแต่ง ก่อนเปรียบเทียบกับชั้นดินอื่นๆ เพื่อสังเกตดูพัฒนาการของรูปแบบวัตถุ ตามลำดับเวลา


ภูมิประเทศแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินดินตามแนวทิศตะวันออก และทิศตะวันตก พื้นที่อยู่อาศัยมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีลำห้วยสองสาย ไหลมาบรรจบกัน คือห้วยนาคำ และห้วยบ้าน จากการขุดค้นพบร่องรอย ของหลุมเสาบ้านใต้ถุนสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีตั้งรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้านถาวรบนเนินดินสูง ที่ล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากนั้นจึงถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งประมาณ 1000-800 ปีก่อน มีการอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง และถูกทิ้งร้างไปอีก จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีชาวไทพวนอพยพมาจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน จนเป็นบรรพบุรุษของประชากรยุคปัจจุบันของหมู่บ้าน


ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียง

จากหลักฐานทางโบราณคดี สามารถสรุปได้ว่า พื้นที่รอบๆน่าจะมีการหักร้างถางพง เพื่อทำการเพาะปลูก มีการบริโภคเนื้อสัตว์ ที่ได้จากการล่าเป็นอาหาร และมีการอุทิศเนื้อสัตว์ให้แก่คนตาย รวมถึงการใช้กระดูกสัตว์ มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องประดับ โดยพบหลักฐานเป็นกระดูกสัตว์ประเภท เสือ กระทิง ควายป่า แรด ละอง ละมั่ง เก้ง กระต่าย ชะมด พังพอน หนู เป็นจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเชียง ใช้ชีวิตโดยการล่าสัตว์ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูกข้าว โดยเครื่องมือที่ใช้ล่า มีตั้งแต่กับดัก ธนู หน้าไม้ และเครื่องมือฟันแทง ทำจากสำริด หอก หรือขวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือจับสัตว์น้ำ และกระดูกสัตว์น้ำ อีกมากมายด้วย แสดงให้เห็นว่า มีความอุดมสมบูรณ์ทางแหล่งน้ำมากอีกด้วย บ้านเชียงยังจัดอยู่ในกลุ่มสังคมเกษตรกรรมยุคเริ่มแรก ที่มีพัฒนาการการใช้โลหะสำริด ในการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จากการใช้ชีวิตแบบอพยพร่อนเร่ เป็นการลงหลักปักฐานแบบชุมชนถาวร จนมีการเพาะปลูก เพื่อการดำรงชีพของชุมชน โดยอ้างอิงจากหลักฐานที่พบ จากโครงกระดูกสัตว์ที่ใช้ในการเกษตร เช่น วัว ควาย และไก่ มีการขุดค้นพบโครงกระดูกสุนัข ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับสุนัขบ้าน จึงสันนิษฐานได้ว่า อาจมีการเลี้ยงสุนัขเพื่อใช้ล่า ควบคุมสัตว์อื่น หรือเพื่อนำทาง และเป็นอาหาร กระดูกสุนัขที่ถูกค้นพบ ได้ถูกพระราชทานนามว่า คุณทองโบราณ

คนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง มีทักษะในการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ เช่นเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องโลหะ ประเภทเหล็ก และสำริด รวมไปถึงการทอผ้าอีกด้วย ซึ่งรูปแบบของศิลปะ และการตกแต่งลวดลายนั้น จะค่อยๆพัฒนาความสวยงาม และความซับซ้อนไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มีภูมิปัญญาที่น่าทึ่งหลายอย่าง เกี่ยวกับการสร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้
 

มีการพบร่องรอยของการกดประทับของผ้า รวมทั้งร่องรอยของเศษผ้า บนเครื่องมือสำริด และเครื่องมือเหล็ก ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของสนิมโลหะ ซึมเข้าไปในเนื้อผ้า เมื่อผ้าสลายตัวไป จึงเหลือรอยประทับอยู่บนสนิมโลหะ บางกรณีสนิมนั้นก็ได้รักษาเนื้อผ้าไว้ด้วย นอกจากนี้ยังพบหลักฐานเป็นอุปกรณ์ ซึ่งคาดว่าเป็นลูกกลิ้งที่ใช้กดประทับ ทำลวดลายผ้าด้วย ส่วนเครื่องประดับ และเครื่องใช้อื่นๆที่ค้นพบ เช่น กระบวยสำริด กำไลที่ทำจากกระดูกสัตว์ ใบหอกสำริด เป็นต้น


ส่วนหลักฐานทางโบราณวัตถุ ของเครื่องมือ เครื่องใช้ ก่อนประวัติศาสตร์บางส่วน ที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้น ก็ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบ ที่ไม่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ลูกปัดหิน และลูกปัดแก้ว จึงสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนแห่งนี้ อาจมีการค้าขายแลกเปลี่ยน กับชุมชนอื่นๆร่วมสมัยภายนอก ที่พัฒนาแล้ว เช่น จากประเทศอินเดีย เป็นต้น 

การสำรวจ และขุดค้นอย่างต่อเนื่อง จากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณแอ่งสกลนคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พบแหล่งโบราณคดี ที่มีวัฒนธรรมร่วมกันกับบ้านเชียงประมาณ 127 แหล่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติสองสาย ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งเหมาะกับการเพาะปลูก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชุมชนที่มาตั้งถิ่นฐาน น่าจะดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน จังหวัดหนองคาย และแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก


ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียง ยังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่เริ่มมีระดับพัฒนาการความเชื่อทางสังคม ซึ่งสะท้อนผ่านทางพิธีกรรมต่างๆ อันสันนิษฐานได้จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่ค้นพบได้มากมาย ที่เห็นได้ชัด นั่นคือ พิธีการฝังศพ มีการฝังสิ่งของต่างๆร่วมกับศพ เพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็น ภาชนะดินเผา อาหาร เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ โดยที่ปริมาณสิ่งของ อาจแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้ตายด้วย การฝังศพมีอยู่ 3 รูปแบบ คือแบบวางศพในท่านอนหงายเหยียดยาว ท่างอเข่า (พบไม่มากนัก) และ การบรรจุศพเด็กทารก ลงในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ก่อนนำไปฝัง สิ่งของที่นำไปใส่ร่วมกับศพยังมีความแตกต่างกัน ตามยุคสมัย ในยุคแรกมักพบเพียงของจำนวนน้อย ประเภทของประดับจากหินและหอยทะเล ต่อมาจึงค่อยๆมีการใส่ภาชนะดินเผา ทุบให้แตก ใส่ลงไปด้วย โดยมักจะเป็นภาชนะดินเผาสีขาวขนาดใหญ่ และยังมีเครื่องมือสำริด และเหล็ก
  

จนถึงยุคสุดท้ายของวัฒนธรรมบ้านเชียง ลักษณะการฝังศพจะวางอยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว ก่อนวางสิ่งของ โรยไปบนศพ ซึ่งมักจะเป็นภาชนะที่เขียนลวดลายสีแดง และเริ่มตกแต่งสีสันสวยงามขึ้น ทั้งยังมีการอุทิศลูกปัดแก้ว และลูกกลิ้งดินเผา ให้กับผู้ตายด้วย
  


การค้นพบไหบรรจุศพเด็กทารกนั้น พบในเฉพาะสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียงเท่านั้น ส่วนการฝังศพเด็ก ในสมัยปลายวัฒนธรรมบ้านเชียง ก็มีการค้นพบโครงกระดูกเด็ก ประมาณสามขวบ พร้อมภาชนะดินเผาสีแดงขัดมัน และเครื่องอุทิศ ซึ่งในสมัยนี้ มีการพบของอุทิศชนิดใหม่ ที่ใส่ลงไปในหลุมฝังศพ ของเด็กอายุ 1-6 ปีเท่านั้น คือลูกกลิ้งดินเผา สันนิษฐานว่า อาจใช้สำหรับจุ่มสี เพื่อประทับสร้างลวดลายบนผ้า หรือใช้เป็นเครื่องรางของขลัง และใช้เป็นเครื่องหมายประจำตัวก็เป็นได้ ทั้งยังบอกถึงสถานะความสำคัญทางสังคมของเด็กคนนั้นได้ด้วย
 

จากการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง แสดงให้เห็นถึงหลักฐานสำคัญ ของการตั้งถิ่นฐาน ของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ และโดดเด่นที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และวิทยาการสืบต่อกัน เป็นเวลายาวนาน อีกทั้งยังมีหลักฐาน ถึงชุมชนเกษตรกรรมแรกเริ่มในภูมิภาค ที่มีความรู้ในการผลิตโลหะ และภาชนะดินเผาที่มีลวดลายโดดเด่น จากข้อมูลและความสำคัญดังกล่าว สถานที่แห่งนี้จึงได้รับการพิจารณา ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของ UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2535 ตามเกณฑ์พิจารณาข้อที่ 3 ที่ว่า "เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐาน แสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงเหลืออยู่ หรือสูญหายไปแล้ว" 


สำหรับส่วนตัวผมแล้ว ผมได้อะไรหลายอย่าง จากการที่ได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากๆเลยครับ รู้สึกอัศจรรย์ใจมาก ที่ประเทศไทยเรา ก็มีมรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่าเช่นนี้ด้วย ผมอยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสและเรียนรู้ถึงความยิ่งใหญ่นี้ ด้วยตัวเองสักครั้ง เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้เป็นอย่างยิ่งเลยครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เชียงตุงและเมืองลา 2014

บ่อแก้วในวันฝนพรำ

My Family to Northeast Thailand in 1999