เชียงตุงและเมืองลา 2014
ในระหว่างที่อาการแพนิค มาเยือนถึงขั้นสูงสุด เหมือนเป็นคำสั่งจากสวรรค์ เมื่อคุณแม่ของผมตอบรับการเป็นสมาชิกร่วมทัวร์ไปเยือนเชียงตุง ประเทศพม่า ด้วยความตื่นเต้นดีใจและคิดว่า นี่แหละเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปลี่ยนบรรยากาศ จึงตั้งอกตั้งใจเฝ้ารอวันเวลาเดินทางให้มาถึง
แต่ก่อนอื่นนั้น การเดินทางไปยังเมืองๆหนึ่ง
แน่นอนคุณต้องตัดสินใจแล้วว่าคุ้มค่าหรือไม่ และจะไปดูอะไร
ทำให้เกิดาการอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเชียงตุงให้มากกว่านี้ พิมพ์คำค้นหาเข้าไปในกูเกิล เราจะมาทำความรู้จักเมืองเชียงตุงก่อนไปโดยประมาณ
เมืองเชียงตุงนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน
ซึ่งรัฐฉานประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทเขินและไทใหญ่ ปัจจุบันเชียงตุง
เป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉานของพม่า (เมืองหลวงของรัฐฉานปัจจุบันคือ เมืองตองยี)
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน มีที่ราบน้อยมาก เป็นเมืองที่มีฉายาว่า
เมือง “3จอม 7เชียง 9หนอง 12ประตู”
เมื่อสมัยโบราณมีความสำคัญเทียบคือกับเมืองเชียงใหม่แห่งอาณาจักรล้านนา
และเมืองเชียงรุ้งแห่งสิบสองปันนาเลยทีเดียว
ทีนี้ก็จะสงสัยว่า ทำไมฉายาจึงเป็นเช่นนี้ อะไรคือจอม อะไรคือเชียง
หนอง ประตู อธิบายได้ว่า จอมนั้นคือภูเขาที่ตั้งอยู่ภายในเมือง มีทั้งหมด 3 จอม
คือ จอมสัก จอมคำ และจอมบน (ภาษาเมืองบ้านเราคงเปรียบเหมือน ม่อน นั่นเอง)
เชียงที่ว่านั้นคือตำบลแยกย่อยในตัวเมือง มีทั้งหมด 7 ตำบล ส่วนหนอง กล่าวไว้ว่า
สมัยก่อนเมืองเชียงตุงมีภูมิประเทศเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
และได้มีฤาษีตนหนึ่งมาขีดไม้เท้าระบายน้ำออกจากเขตนี้ เพื่อสร้างเป็นเมือง
(สังเกตว่ามีสองแม่น้ำไหลจากเชียงตุงทั้งทางขึ้นและทางล่อง)
หนองที่มีอยู่เลยกระจายเป็น 9 หนองใหญ่ๆขังอยู่ในตัวเมือง ปัจจุบันนั้น
เหลือเพียงหนองคำ หนองตุง และหนองนวลเท่านั้น ที่ยังมีน้ำอยู่
นอกนั้นก็โดนถมที่สร้างอาคารบ้านเรือน หรือแห้งเหือดตามกาลเวลาไป และประตู 12
ประตู นั่นคือประตูเมืองที่เจ้าฟ้าของเชียงตุงสร้างไว้
ปัจจุบันเหลือเพียงประตูเดียวคือประตูป่าแดง ที่ยังไม่ถูกทำลาย
เมืองเชียงตุงมีประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวไทเขินและไทใหญ่
กับชาวพม่าแท้ๆจำนวนกลุ่มหนึ่ง รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยอย่างอาข่า และว้าแดง
จากข้อมูลที่หามาคร่าวๆ
ทำให้เกิดความรู้สึกอยากไปสัมผัสกับวัฒนธรรมที่เหมือนได้ย้อนเวลาเมืองไทยกลับไปเมื่อ
50 ปีก่อน แต่เพราะทัวร์นี้ผมเป็นวัยรุ่นเพียงคนเดียว นอกนั้นเป็น ส.ว. (ย่อมาจาก
ผู้สูงวัย) ทำให้เตรียมใจไว้ตั้งแต่แรกว่า จะต้องคอยบริการผู้หลักผู้ใหญ่
อันที่จริงมันเป็นอะไรที่ดีมากๆ เพราะจะมีความเป็นระเบียบในระบบลูกทัวร์
ผมก็เลยยินดีและเต็มใจที่จะเป็นวัยรุ่นน้อย แฝงตัวไปกับแม่ๆ ป้าๆ ลุงๆ อาๆ ทั้งหลาย
พอถึงวันเดินทางเราออกจากลำปางเวลาตี 1 ตรง มาถึงด่านที่แม่สายในเวลาที่ใกล้จะเปิดพอดี
เอกสารไม่ต้องยุ่งเกี่ยวเพราะแม่ๆได้ทำเอกสารผ่านแดนให้ล่วงหน้าแล้ว
เราจึงนั่งรถตู้ข้ามด่านอย่างสะดวก ก่อนจะเปลี่ยนไปขึ้นรถทัวร์ของพม่า
แว้บแรกที่เห็นคือ ยางรถที่ไม่มีดอกเลย ผมจะรอดถึงจุดหมายปลายทางได้หรือไม่ แต่ต้องขอบคุณพี่จัน
คนขับรถชาวพม่ามากๆที่ขับได้แบบนิ่มนวลสุดๆ แม้ยางจะไม่มีดอกสักนิดเดียว และเราก็รู้จักกับลุงจุก คนกรุงเทพที่มาเป็นหัวหน้าทัวร์ของเรา
กับพี่วิกี้ ไกด์สาวที่แสนใจดีและเป็นกันเอง
รถของเราเริ่มออกจากท่าขี้เหล็กตรงพรมแดนไทยพม่าเวลา 9 โมง ห่างจากเชียงตุง 186 กิโลเมตร
แต่ใช้เวลาเดินทางสี่ชั่วโมงเลยทีเดียว หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไม ผมก็เองก็สงสัย
แต่พอเห็นสภาพถนน กับหนทางที่คดเคี้ยวผ่านหุบเขาและแม่น้ำ
เลยเข้าใจเป็นอย่างดีโดยไม่ต้องถามใครเลยครับ
ถนนในรัฐฉานยังคงเป็นถนนลูกรัง ฝุ่นตลบซะส่วนมาก สายท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง
จะมีการซ่อมแซมเป็นระยะๆ เขาเรียกกันว่า Handmade Road นั่นคือการซ่อมถนนโดยไม่ใช้เครื่องจักร
ต้องเอาคนนี่แหละครับมาเรียงหินเป็นก้อนๆ แล้วเอามือเปล่าๆคลุกกับยางมะตอย รถเมล์พม่าพาเราเคลื่อนที่ไปช้าๆบนถนนที่ทำด้วยมือเส้นนี้ ผ่านเมืองท่าเดื่อ
ซึ่งเป็นจุดเริ่มของแม่น้ำท่าเดื่อ ที่จะไหลขนาบเส้นทางไปจนถึงเชียงตุง
บริเวณท่าเดื่อจะเหมือนหลุมอากาศหนาว คือผ่านที่อื่นๆไม่หนาวครับ
แต่พอผ่านเมืองท่าเดื่อปุ๊บ อากาศหนาวจนแทบจะติดลบเลยทีเดียว
พ้นเขตท่าเดื่อไปอากาศก็กลับมาอบอุ่นเหมือนเดิม
เมืองถัดไปที่ต้องผ่าน คือเมืองพยาก หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าเมืองยักษ์
ตำนานกล่าวไว้ว่า เคยมียักษ์มาอาละวาดที่เมืองนี้จนพระพุทธเจ้าต้องเข้ามาโปรด
มอบพระเกศา 2 เส้นให้แก่ยักษ์ตนนี้ ยักษ์จึงซาบซึ้งในพระธรรม
เลยตอบแทนบุญคุณด้วยการสร้างพระธาตุต่างๆมากมายไว้ในเมืองพยากนี้
เลยเป็นที่มาว่าทำไมเมืองพยาก (เมืองยักษ์) ถึงต้องมีชื่อแบบนี้ เมืองพยากมีชื่อเสียงในเรื่อง เหล้าเถื่อน ครับ หมักกันเองจากข้าวเปลือก
ร้อนแรงถึง 60 ดีกรี เอาไว้กันหนาวเวลาหน้าหนาว
ตลอดทางผ่านเมืองก็จะเห็นสาวๆมายืนขายเหล้าที่บรรจุในแกลลอนสีน้ำเงินตลอดครับ
ตลอดเส้นทางเราจะได้สัมผัสกับบรรยากาศหมู่บ้านแบบโบราณ ผู้คนอยู่กันง่ายๆ
เหมือนเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง
แม้จะมีสายไฟแรงสูงที่ห้อยเชื่อมกันมาแบบต่ำติดดินข้างถนน
(ทีแรกนึกว่าเป็นสายสิญจน์) ชาวบ้านจะปั่นไฟจากแม่น้ำท่าเดื่อ เอามาใช้ในบ้าน
มีไดนาโมชักน้ำจากแม่น้ำหลายเครื่องเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีนาขั้นบันไดมากมาย
บ่งบอกให้รู้ว่า อาชีพหลักของคนแถบนี้ ยังคงเป็นอาชีพเกษตรกรรม
เหมือนกับเมืองไทยยุคก่อน
สิ่งที่จะต้องเห็นตลอดเวลาผ่านจากเขตเมืองหนึ่งไปอีกเขตเมืองหนึ่ง
คือด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่รัฐฉานด่านนี้จะตั้งตรงทุกๆเขตแบ่งเมือง
ถ้าไม่ได้ปั๊มตราจากด่านก่อนหน้าแล้วล่ะก็ ต้องลงทุนขับย้อนไปปั๊มที่ด่านเก่าเลยล่ะครับ
นึกภาพเหมือนกับบ้านเรา ถ้ามีด่าน เส้นทางจาก เชียงใหม่ไปแม่แตง ก็คงจะแบ่งด่าน 2
ครั้งคือที่แม่ริมกับแม่แตงนั่นเองครับ เส้นทางสายเอเชียหมายเลขสองจากท่าขี้เหล็กมาถึงเมืองเชียงตุงนี้ จะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของพม่าที่ว่านี้ ทั้งหมด 4 ด่านด้วยกัน คือที่ บ้านแม่ยาง หรือที่คนไทเขินเรียกว่า บ้านหมากยาง มาถึงจุดต่อมาที่เมืองท่าเดื่อ เมืองพยาก และจุดสุดท้ายตอนเข้าเมืองเชียงตุงครับ
จนถึงเที่ยงวันที่เรามาถึงเชียงตุง แต่เดี๋ยวๆๆๆก่อน เราไม่ได้แวะครับ
ทำเอาป้าๆแม่ๆพากันงุนงงด้วยความมึนหัวจากเส้นทางอันแสนหฤโหด เราจะตรงไปยังเมืองลา
ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของพม่า ติดชายแดนจีนแถบสิบสองปันนานั่นเองครับ เป็นเขตปกครองพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเขตปกครองพิเศษใกล้เคียงร่วมกันของชนกลุ่มว้า ซึ่งอาณาเขตครอบคลุมเมืองลา จนเลยลงมาถึงเมืองยองที่ติดกับชายแดนแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาวด้วยครับ ด้วยสภาพความห่างไกลและลี้ลับของที่ตั้ง เราจึงต้องเดินทางไปบนถนนที่เรียกได้ว่า ลอยฟ้า แต่ยังถือว่าเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ที่ดีที่สุดในรัฐฉาน
(ทำเอาไม่อยากนึกถึงถนนเส้นอื่นเลยครับ) ป้าๆแม่ๆก็เมาๆมึนๆหลับๆตลอดทาง
แต่ผมก็ตื่นอยู่คุยกับพี่วิกี้และลุงจุกตลอดเวลา
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชาวบ้านปลูกกล้วยแล้วห่อเครือของมันไว้ด้วยถุงสีน้ำเงิน
เขาบอกว่าเป็นการกันแมลงมากัดกินครับ แบบว่าห่อทุกเครือจริงๆ มีการเผาไฟ ถางป่า
จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ในใจก็อดใจหายไม่ได้
เมืองลาเคยมีความสำคัญในสถานะเมืองแห่งคาสิโนที่ไม่เคยหลับใหล
เมื่อก่อนจีนขอเช่าพื้นที่จากพม่าเพื่อการนี้โดยเฉพาะครับ
เมืองลาเรียกได้ว่าเป็นเขตการปกครองพิเศษ เหมือนกับเขตอื่นที่มีอยู่ติดกันเช่นเขตว้าแดง เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องกฏหมายและการปกครอง กฎหมายโหดจริงๆ
และสิ่งที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศอื่น กลับกันนั้นคุณจะได้เห็นในเมืองลา
เพราะที่นี่ ถือว่าถูกกฎหมายครับ ส่วนภาษาพูด ดูจากที่ฟังมาไม่น่าจะเป็นภาษาพม่าเลย ใช่ครับ เพราะรัฐบาลจีนเคยปกครองมาก่อน
ที่นี่จึงมีคนพม่าแท้ๆน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็ชาวจีนเกือบครึ่งครับ
เงินที่ใช้ก็เป็นเงินหยวน ไม่ใช่เงินบาทอย่างที่คนเชียงตุงพอรับไปใช้กันได้ หรือเงินจั๊ดของพม่า
ที่นี่เน้นความบันเทิงทางการพนันและซื้อของอย่างเดียวเลยล่ะครับ
คืนนั้น ผมไม่ได้ออกไปดูเมืองลายามค่ำคืนกับพวกแม่ๆ แต่พี่วิกี้
ไกด์ใจดีของเราก็ยังอุตส่าห์ซื้อข้าวมาให้ เป็นอะไรที่อบอุ่นและกันเองมากๆครับ
คืนนั้นผมนอนดู CCTV ซึ่งเป็นของจีนทั้งคืนเลยทีเดียว พร้อมกลิ่นบุหรี่ตลบอบอวล
แม้ห้องจะปิดหน้าต่างเปิดแอร์อยู่ก็ตาม
มาถึงตอนเช้า เราก็ได้เห็นอีกมุมหนึ่งของเมืองลา
ผ่านการแนะนำของไกด์สาวสุดฮา ชื่อ เกหอม ทั้งตลาดเช้าที่มีหลากหลายชนเผ่ามานั่งขายของอยู่
ของส่วนมากจะมาจากจีนครับ ข้ามด่านไปอีกฟากก็คือสิบสองปันนาของจีนนั่นเอง
เราเลยแวะไปดูละถ่ายรูปที่ด่านสักหน่อย เลยกลายเป็นชนเผ่าอ้าขา
(ไม่ใช่อาข่านะครับ) หมายถึงอ้าขาคร่อมหลักกิโลเมตรที่ 218
เพื่อยืนอยู่ทั้งสองดินแดน พม่าและจีนนั่นเอง แต่ด่านปิดครับ
จึงข้ามไปสิบสองปันนาทางนี้ไม่ได้ ต้องไปทางเชียงของประเทศไทยอย่างเดียว
ที่เมืองลามีการสร้างพระยืนชี้นิ้วจำลองมาจากเมืองเชียงตุง พร้อมจำลองพระธาตุ 7
แห่งที่สำคัญของชาวพม่ามาไว้ที่นี่แบบเล็กๆกะทัดรัดครับ หลังจากนั้นเราก็ได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ฝิ่น
และได้เห็นดอกฝิ่นจริงๆด้วย เมื่อก่อนชาวเมืองลามีอาชีพปลูกฝิ่นเป็นหลัก
ทำให้ชีวิตย่ำแย่ เพราะมัวแต่สูบฝิ่นที่ตัวเองปลูก
รัฐบาลจึงเข้ามาปราบปรามและให้ชาวบ้านทำการเกษตรอย่างอื่นแทนครับ
ของใช้ของเมืองลาและเชียงตุงส่วนมากมาจากไทยและจีน ไม่ว่าจะเป็นอาหารไปจนถึงรถยนต์
มาที่เมืองลาเหมือนได้เห็นสามมุมมองของเชื้อชาติ (ไทใหญ่ พม่า และจีน)
แบบครบเครื่องครับ
และแล้วเราก็ต้องอำลาเมืองลากับไกด์เกหอม
กลับไปหาพี่วิกี้ใจดีของเราอีกครั้ง กลับทางเดิมคือถนนลอยฟ้านั่นแหละครับ ป้าๆแม่ๆจะเข้าห้องน้ำบ่อยมาก และห้องน้ำเป็นอะไรที่เรียกได้ว่า ง่ายๆพื้นๆมาก มากันเป็นรางเชื่อมให้นั่งยองๆต่อกันเลยทีเดียว แต่ป้าๆก็ต้องทนครับ
เพราะไม่มีห้องน้ำที่ดีกว่านี้อีกแล้ว
ขากลับจากเมืองลาไปเชียงตุง
ผมก็ได้ทำหน้าที่สร้างความบันเทิงให้ส.ว.ทั้งหลาย
โดยการเปิดมินิคอนเสิร์ตในรถเมล์ครับ และก็มีน้าๆหลายๆคนผลัดกันแย่งไมโครโฟนเพื่อเล่าเรื่องขำขัน
ไม่เว้นแม้แต่พี่วิกี้ และสองสาวชาวไทใหญ่ที่ร่วมติดรถมาด้วย
สนุกสนานกันแบบสุดๆเลยครับ
เมื่อล้อรถเหยียบเมืองเชียงตุงอีกครั้ง
ผมก็หาของทานข้างทางด้วยความหิวโหยจัด เลยได้ไปเจอกับร้านอาหารผัดทอดที่อร่อยสุดๆ
หน้าวัดจองคำหลวงครับ มีทั้งต้นหอมสับกับถั่วเหลืองบดทอด พริกทอด ฟักทองทอด
เรียกได้ว่าอิ่มจนไม่ต้องทานมื้อเย็นกันเลยทีเดียว
เราพากันไปชมวัดพระยืนชี้ที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน ที่วัดจอมสัก ซึ่งอันนี้เป็นของจริงครับ
ไม่เหมือนที่เมืองลา เขาว่ากันว่าถ้าพระชี้นิ้วไปทางไหน
บริเวณนั้นจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางการค้าและศาสนา
เลยมีการแซวว่าพระชี้ไปทางตะวันออกเพราะต้องการไล่คาสิโนให้ไปอยู่เมืองลาครับ
(ฮ่าๆ) วัดพระยืนชี้อยู่บนจอมสัก ตามชื่อของวัด ที่มีต้นสักใหญ่ 10 คนโอบ
เป็นจอมหนึ่งในสามจอมที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ในเมืองเชียงตุงเราจะพบประวัติศาสตร์ของไทใหญ่ในสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีทั้งพระธาตุ
วัด และวังโบราณของเจ้าฟ้า
สุสานของเจ้าฟ้าทุกพระองค์ที่เคยปกครองเมืองเชียงตุงมาก่อน
โรงแรมที่เราพักก็เคยเป็นวังเก่าครับ แต่ไม่เจอเรื่องลึกลับอะไรอย่างที่คนเขาล่ำลือกันเลย ซึ่งพี่วิกี้ก็เอ่ยด้วยรอยยิ้มว่า สงสัยวิญญาณบรรพบุรุษของคนที่นี่ คงจะถูกชะตากับพวกเราแล้วล่ะครับ เลยคอยปกป้องให้นอนหลับฝันดีทั้งคืน พอออกเดินทางกันต่อ ก็ได้ไปชมหนองตุง หนองที่ใหญ่ที่สุดใน 3 หนอง กับทิวทัศน์ที่สวยงามมากๆ เพราะฉะนั้นคืนนี้เลยผ่อนคลายสบายใจที่โรงแรม ซึ่งราคาไม่แพง และสภาพค่อนข้างดีทีเดียว มี Wi-Fi ให้เล่นเป็นคืนแรกอีกต่างหาก หลับเต็มอิ่มครับ
รุ่งเช้าเราก็มาเดินซื้อของกันที่ตลาดเช้าเมืองเชียงตุง
ผมได้รับความเมตตาจาพี่วิกี้ ซื้ออัลบั้มเพลงของ Mar Mar Aye (นักร้องแนว World
Music ชื่อดังของพม่า) เรียกได้ว่าปลื้มใจที่สุดครับ พี่วิกี้เป็นคริสเตียน
ได้อธิษฐานเผื่อให้ผมหายจากอาการของโรคด้วยล่ะครับ ซาบซึ้งจริงๆ
ส่วนบรรดาแม่ๆก็ง่วนอยู่กับการซื้อผ้าทอ ผ้าซิ่นสุดสวย ทุกอย่างคงจะสนุกกว่านี้
ถ้าไม่ติดเรื่องฝุ่นควันในตัวเมืองบางพื้นที่ ที่ทำเอาบางคนถึงกับภูมิแพ้ขึ้นเลยทีเดียว อันที่จริงเป็นเรื่องที่ผมเจอแทบเป็นปกติในหลายๆเมืองใหญ่ของพม่า แม้แต่ในลำปางและเชียงใหม่ บ้านเกิดของตัวเองช่วงเดือนมีนา เมษา ก็ฝุ่นเยอะอยู่เหมือนกันครับ ในตลาดมีอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะโรตีโอ่ง ไม่ทอดน้ำมัน มีแยมทารอบๆ ทานกับชาหอมร้อนๆ อร่อยมากๆครับ เป็นการแวะซื้อของฝากก่อนที่จะกลับบ้าน แต่ห้องน้ำในชุมชนหายากมากจนอุจจาระแทบกลั้นไม่อยู่เลยทีเดียว
และทริปเชียงตุงของเราก็จบลงที่นี่ครับ
ก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทยอย่างปลอดภัย ด้วยความอิ่มใจและเป็นสุข
สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นการพิสูจน์ศักยภาพในตัวผม
และมิตรภาพของคนเชื้อไท ที่ไร้พรมแดน เราได้หนทางติดต่อกับพี่วิกี้
พี่เต๋อคนดูแลทัวร์ชาวเชียงใหม่ น้องซาร่าที่ติดรถมากับเราตลอดทาง
ไปจนถึงพี่บุญมีและพี่จันที่ควบคุมรถได้นิ่มมาก
ผมได้กำลังใจมาจากคนต่างถิ่นเยอะทีเดียวครับ เขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอยากจะหายก็ให้ไล่มันออกจากใจเราไป
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตใจเราจริงๆด้วยครับ
ขอบคุณทริปนี้กับบรรดาผู้สูงวัยทั้งหลาย
หวังว่าทริปหน้าคงจะได้มาบริการบรรดาแม่ๆลุงๆอีกนะครับ
สุดท้ายนี้นำภาพที่ผมถ่ายจากทริปนี้มาฝากให้ชมกันเพลินๆครับ ขอให้มีความสุขกับการเที่ยวไปด้วยกันครับ
บรรยากาศสองข้างทางบนนถนนจากท่าขี้เหล็ก สู่เมืองเชียงตุงครับ
ตลาดเช้าเมืองเชียงตุง
รูปปั้นช้างที่ด่านสากลพม่า จีน ครับ
พระพุทธรูปยืนชี้นิ้วที่วัดจอมสัก
วัดในเมืองลาครับ
ภายในอุโบสถวัดอินทร์ครับ
หน้าบริเวณทางขึ้นวัดแห่งหนึ่งในเขตปกครองพิเศษเมืองลาครับ
ตลาดเช้าเมืองลาครับ สามารถเห็นของป่าแปลกๆได้หลายชนิดเลย
ประตูเมืองเชียงตุงที่ยังเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ประตูป่าแดง นี่ล่ะครับ
ส่วนนี่คือหลักกิโลเมตรบนถนนสายเอเชีย หมายเลข 2 ตรงด่านสากลระหว่าง เมืองลาของประเทศพม่า กับแคว้นสิบสองปันนา ของประเทศจีนครับ
พระพุทธรูปยืนขนาดยักษ์ที่วัดจอมสัก
ความยิ่งใหญ่ของวัดจอมคำครับ
ศิลปะและเจดีย์น้อยใหญ่ภายในวัดแต่ละแห่งของเมืองเชียงตุงครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น