Yurt หรือ Ger บ้านของชนเผ่าเร่ร่อนที่แสนวิเศษในเอเชียกลาง


หากใครเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศแถบเอเชียกลาง หรือไซบีเรีย เช่น มองโกเลีย คาซัคสถาน หรือ ทางตะวันออกของรัสเซียบางส่วน อาจจะได้เห็นรูปทรงอันคุ้นตาของเต็นท์ทรงกลมหลังใหญ่ๆ ที่หุ้มด้วยผ้าหรือหนัง ตั้งเรียงรายอยู่ตามทุ่งหญ้า หรือเนินเขาอันกว้างใหญ่ สิ่งเหล่านั้นคือบ้านของชนเผ่าเร่ร่อนหลายกลุ่มในเอเชียกลางและไซบีเรีย มีชื่อเรียกว่า Yurt (เยิร์ต) หรือ Ger (เกอ) ในภาษามองโกเลีย ซึ่งเป็นเต็นท์กระโจมอาศัยแบบชั่วคราว สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับชนเผ่าเร่ร่อน ที่ใช้ชีวิตด้วยการล่าสัตว์ป่า


คำว่า Yurt สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์ภาษาเตอร์กิชโบราณ ที่แปลว่า เต็นท์ หรือ ที่อยู่อาศัย ในภาษาตุรกีสมัยใหม่ คำนี้ถูกใช้เป็นคำพ้องความหมายของคำว่า "บ้านเกิด" และ "หอพัก" ในขณะที่ในภาษาอาเซอร์ไบจาน มันหมายถึง "บ้านเกิด" หรือ "มาตุภูมิ" ส่วนชื่อเรียกในภาษามองโกเลีย คือ Ger นั้น มีความหมายว่า "บ้าน" เช่นกัน ในขณะที่ชื่อเรียกภาษาคาซัก กับ คีรกิซ ให้ความหมายว่า "บ้านสักหลาด" และ "บ้านสีเทา" ด้วยความรู้สึกที่มองจากรูปร่างภายนอก ว่าห่อหุ้มด้วยผ้าสักหลาดสีเทานั่นเอง

การสร้างกระโจมเป็นลักษณะเด่นของชีวิตผู้คนในแถบนี้ตั้งแต่เมื่อสามพันปีก่อน มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก บันทึกโดยนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ อธิบายว่า เต็นท์ที่มีการประดับตกแต่ง เป็นที่อยู่อาศัยของชาวไซเธียน ซึ่งเป็นอาณาจักรเร่ร่อนที่อาศัยอยู่โดยการขี่ม้า ในแถบทะเลดำตอนเหนือ และภูมิภาคเอเชียกลางตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 300


โครงสร้างทรงกลมของ Yurt เป็นสิ่งที่น่าสนใจในบทเรียนวิชาฟิสิกส์ โครงสร้างนี้จะตั้งประกอบเข้ามุมกันด้านบน ด้วยโครงตาข่าย ที่ทำจากไม้หรือไม้ไผ่ ซี่ไม้ที่มาจากเม็ดมะยม จะวางอยู่บนผนังทรงกระบอก มีช่องไว้สำหรับใส่ผนัง วงกบประตู โครงสร้างหลังคามักจะรองรับตัวเองได้ แต่กระโจมขนาดใหญ่อาจจะมีเสาภายในรองรับน้ำหนักอีกชั้น อาจมีเสาไม้สองต้นตรงกลางเป็นที่ตั้งของเตา ด้านบนของผนังกระโจมจะพยุงตัวป้องกันน้ำหนักที่แพร่กระจาย โดยใช้แถบปรับความตึง ซึ่งต้านแรงของโครงหลังคา ผนังกระโจมเป็นผนังตาข่ายติดกับหนังสัตว์และเชือก หุ้มด้วยผ้าสักหลาดเพื่อเป็นฉนวน กำแพงมาบรรจบกันที่ประตูไม้ มีประตูเดียวและไม่มีหน้าต่าง ปกติประตูจะทาสีส้มหรือน้ำเงินอย่างสวยงาม และมักจะหันไปทางทิศใต้เสมอ ปกติจะไม่พบไม้สำหรับทำโครงสร้างภายนอกในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่แห้งแล้ง ชาวเผ่ามักจะได้ไม้มาจากการค้าขายในตัวเมือง ซึ่งอยู่ในหุบเขาเบื้องล่าง ผ้าสักหลาดที่ใช้ห่อหุ้มกระโจม มักทำจากขนแกะที่พวกเขาเลี้ยงไว้เป็นฝูง ผ้าสักหลาดอาจถูกคลุมเพิ่มด้วยผ้าใบบังแดด ถ้าจำเป็น ปัจจุบันอาจใช้วัสดุที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น โครงโลหะ ผ้าใบกันน้ำ ฉนวนกันแดด หรือลวดสลิง เป็นต้น กระโจมสามารถป้องกันความหนาวเย็นจากภายนอก ในฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี และสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นกระโจมสำหรับฤดูร้อนที่เย็นลงอย่างง่ายดาย พวกมันถูกออกแบบให้สามารถรื้อถอนและประกอบชิ้นส่วน รวมถึงขนย้ายไว้บนจามรีหรืออูฐอย่างกะทัดรัด เพื่อนำไปสร้างใหม่อีกครั้งบนพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการก่อสร้างกระโจมแต่ละหลังใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง อาจมีการตกแต่งกระโจมด้วยเครื่องหมาย และลวดลายที่มีความหมายเฉพาะ เช่น รูปสัตว์ที่ทรงพลัง อย่าง สิงโต เสือ ครุฑ และมังกร รวมถึงองค์ประกอบของธาตุทั้งห้า อย่าง ไฟ น้ำ ดิน โลหะ และไม้ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าจะนำความแข็งแกร่งและให้ความคุ้มครองต่อผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมีรูปแบบทางเรขาคณิตที่ใช้ซ้ำกันอย่างแพร่หลาย บ่งบอกถึงความหมายต่างๆ เช่นรูปค้อนต่อเนื่อง นิยมใช้ตกแต่งเส้นขอบ แสดงถึงความแข็งแกร่งและความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สัญลักษณ์ของชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข ที่ได้จากการตกแต่งลวดลายรูปจมูกและเขาของสัตว์ รวมไปถึงงานปักลวดลายบนเฟอร์นิเจอร์ ประตู และวัตถุอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้ว Ger ของชาวมองโกเลีย มักจะสร้างโดยมีโดมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง รองรับด้วยเสาภายใน ในขณะที่ Yurt ของพื้นที่อื่นๆ จะมีลักษณะแหลมกว่า และไม่มีเสาค้ำยันมงกุฏ แต่คำที่ใช้เรียกระหว่าง Yurt กับ Ger นั้น ขึ้นอยู่กับว่า พื้นที่แห่งนั้นอยู่ที่ไหนมากกว่า

ก่อนที่จะเข้าไปในกระโจมของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้ ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นและธรรมเนียมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่พวกเขาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้พวกเขาขุ่นเคืองใจ สำหรับ Ger ของชาวมองโกเลียนั้น มีข้อปฏิบัติตามมารยาท อาทิเช่น เมื่อเข้าไปข้างในกระโจมแล้ว ให้ก้าวไปทางซ้าย และเดินผ่านตามเข็มนาฬิกาเสมอ ห้ามผ่านระหว่างเสากลางทั้งสอง เพราะนั่นหมายถึงลางร้าย ตามความเชื่อของพวกเขา ข้อที่สอง ระหว่างที่นั่งอยู่ในกระโจม ผู้สูงอายุควรนั่งไปทางด้านหลังของกระโจม และนั่งที่ตรงข้ามประตู ในขณะที่ฝั่งขวาของกระโจมคือผู้หญิง และฝั่งซ้ายคือผู้ชายนั่ง ปกติภายในกระโจมจะมีเตียงนอนเพียงเตียงเดียว ผู้ชายในบ้านจะนอนบนเตียง คนอื่นๆ จะนอนบนพื้นด้วยกันในพื้นที่ขนาดใหญ่แห่งเดียว บ่อยครั้งที่ครอบครัวใหญ่ทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในกระโจมหลังเล็กเพียงหลังเดียว การมาเยือนกระโจมของชาวบ้าน ควรนำของขวัญติดตัวไปด้วยเสมอ และควรรับของขวัญหรือสิ่งของที่พวกเขามอบให้ ด้วยมือขวาทุกครั้ง


อย่างที่กล่าวไปแล้ว ว่าครอบครัวขนาดใหญ่ของชนเผ่าจะอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมดภายในกระโจมหลังเดียว พวกเขาจะทำกิจกรรมทุกอย่าง ทั้งกิน นอน ภายในเต็นท์ โดยไม่มีการแบ่งแยกพื้นที่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิประเทศมักไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาเข้าถึง อย่างไรก็ตาม กระโจมหลายๆหลังมักมีแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสะสมพลังงานสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ ใช้ไฟฟ้า หรือในบางหลังที่มีโทรทัศน์ขนาดเล็กติดตั้งอยู่ด้วย พวกเขามักจะนอนด้วยกันใต้ผ้าห่มหนาผืนเดียวกันในเวลากลางคืน ก่อนม้วนเก็บไว้ในเวลากลางวัน พวกเขายังทำและรับประทานอาหารด้วยกัน ในพื้นที่เดียวกันกับที่พวกเขานอนหลับอีกด้วย

Ger แต่ละหลังจะมีเตาอยู่ตรงกลาง โดยมีปล่องไฟโผล่ขึ้นมาจาก เตานี้เป็นแหล่งทำความร้อนของกระโจมและห้องครัว หากพวกเขาต้องการทำให้กระโจมเย็นลง ก็จะม้วนผ้าสักหลาดที่คลุมอยู่ด้านล่าง และปล่อยให้ลมพัดระบายด้านล่างของกระโจม เพียงเท่านี้ก็สามารถปรับอุณหภูมิภายในได้อย่างรวดเร็ว


บ่อยครั้งที่หลายๆครอบครัว ตั้งถิ่นฐานกระโจมใกล้ชิดกัน และอาศัยอยู่ภายในระยะไม่กี่กิโลเมตรจากกัน เพราะต้องการพึ่งพากัน ในสภาวะแวดล้อมที่แห้งแล้งและเลวร้าย บางครั้งพวกเขาก็จะรวมตัวกัน จนเป็นชุมชนของกระโจมขนาดใหญ่ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีน้ำประปาเข้าถึง ผู้คนจึงใช้น้ำจากบ่อน้ำหลัก สำหรับการอาบน้ำ พวกเขาจะมีกระโจมอาบน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะมีการสร้างส้วมซึมอยู่ด้วย แม้แต่ในเมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย อย่าง กรุงอูลานบาตอร์ ก็ยังมีชุมชนกระโจม อย่างไรก็ตาม มีเพียง 43% ของผู้อาศัยในเขตกระโจมในเมืองหลวงเท่านั้น ที่อาศัยอยู่จริง บางเขตในอูลานบาตอร์ มีมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่หลายเขตที่อยู่ไกลจากใจกลางเมืองนั้น เป็นผลมาจากการย้ายถิ่นฐานครั้งล่าสุด และราคาที่อยู่อาศัยอื่นๆ ในอูลานบาตอร์ก็มีราคาสูงมาก ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในเขตชุมชนกระโจมของเมืองหลวง และเมืองใหญ่อื่นๆในมองโกเลีย นั่นคือ มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในฤดูหนาว เกิดจากการใช้เตาเหล็กธรรมดาในการทำอาหาร และให้ความร้อนภายในกระโจม ซึ่งปัจจุบันมีนักอนุรักษ์มากมาย พยายามพัฒนารูปแบบของเตาให้ความร้อน และวัสดุในการสร้างกระโจมใหม่ เพื่อลดปัญหามลพิษลง


สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของมองโกเลียนั้น เป็นชนเผ่าเร่ร่อน ปีละสองถึงสามครั้งพวกเขาจะรื้อกระโจมเก่าทิ้ง และวางชิ้นส่วนทุกอย่างไว้บนรถบรรทุกหรือสัตว์อพยพ แล้วเคลื่อนย้ายในพื้นที่รัศมีประมาณ 5-13 ก.ม. ก่อนจะสร้างกระโจมขึ้นใหม่อีกครั้ง และพวกเขาจะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆตลอดช่วงชีวิต

ผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมของกระโจมในประเทศอื่นๆ ได้ปรับแนวคิดของการสร้างกระโจมแบบทรงกลม ของชนเผ่าเร่ร่อนในเอเชียกลาง ให้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และการใช้งานที่แตกต่างกัน ในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา กระโจมมักสร้างขึ้นจากวัสดุที่ทันสมัยและทนทาน ส่วนในยุโรป มีการสร้างกระโจมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับในเอเชียกลาง โดยใช้ไม้เนื้อแข็งในท้องถิ่น รวมทั้งปรับให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปียกชื้น แต่โดยพื้นฐานแล้วเป็นกระโจมธรรมดา ซึ่งไม่มีผ้าสักหลาด และการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ กลุ่มคนต่างๆ สร้างกระโจมขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ที่พักอาศัยถาวร ไปจนถึงเป็นห้องเรียนภายในโรงเรียน และในสวนสาธารณะประจำจังหวัด บางแห่งในแคนาดา และในรัฐหลายรัฐของสหรัฐฯ มีกระโจมถาวรสำหรับตั้งแคมป์ ให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย



ที่มา

1.) https://en.wikipedia.org/wiki/Yurt

2.) https://www.ottsworld.com/blogs/mongolian-gers/

3.) https://www.discovermongolia.mn/about-mongolia/culture-art-history/ger-mongolian-traditional-dwelling


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล และเจ้าของวิดีโอในยูทูบด้วยครับ สำหรับข้อมูลอ้างอิง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เชียงตุงและเมืองลา 2014

บ่อแก้วในวันฝนพรำ

My Family to Northeast Thailand in 1999