ระบำเลอกอง ศิลปะการแสดงที่งดงาม หนึ่งเดียวของบาหลี (ตอนที่ 3)

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก มาคราวนี้ ก็จะมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับระบำเลอกองของบาหลีต่อจากครั้งที่แล้ว หลังจากที่ได้แนะนำให้รู้จักเนื้อเรื่องละครรำเลอกองบางส่วน ที่เป็นที่รู้จักกันไปในสองตอนแรก มาในตอนนี้เราก็จะมาเขียนถึงลักษณะเฉพาะของระบำเลอกอง และความเป็นไปมันในปัจจุบันกันครับ


ซึ่งแต่ละเนื้อเรื่องของระบำเลอกอง ที่เราได้ยกตัวอย่างในตอนที่ผ่านๆมา ก็จะมีความยาวของการแสดง ความเร็วของการร่ายรำ และบทบรรยาย ที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแสดงนานไปถึงชั่วโมงกว่าๆ ลักษณะการร่ายรำของระบำเลอกองบาหลีนั้น มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ต้องใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายประกอบกันหลายส่วน นักแสดงรำจะต้องสวมมงกุฏ ปลอกคอ และเครื่องประดับ รวมไปถึงตกแต่งดอกไม้ การแสดงบางชุดอาจจะใช้พัดในการประกอบการแสดง นอกจากนั้นยังมีวัตถุอื่นๆในการร่ายรำ สำหรับตัวละครที่มีความสำคัญ เช่น ตัวนกในเรื่อง ที่จะต้องใส่ปีกนกด้วย ในการแสดง นักระบำจะจุดหน้าผากด้วยจุดเล็กๆสีขาว ตามความเชื่อเรื่องโชคลาง ซึ่งมักจะทำได้ง่ายด้วยการใช้ยาสีฟัน


ในการแสดงละครรำเลอกองนั้น ไม่มีบทสคริปต์สำหรับการพูด รายละเอียดของเรื่องราว มักจะถูกบรรยายด้วยนักร้องของวงดนตรีกาเมลาน ซึ่งจะบรรเลงวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทโลหะตีกระทบ เพื่อให้จังหวะการรำกับนักแสดงรำของละครรำ อารมณ์ของเรื่องถูกส่งผ่านไปยังท่าทางการรำที่ซับซ้อน ทั้งการเคลื่อนไหวของเท้า แขน และหัวที่แข็งแรง และละเอียด การส่งอารมณ์ผ่านการสื่อสารทางสายตา รวมไปถึงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของนิ้วมือ ในระหว่างการรำที่ไม่ใช้พัด เอกลักษณ์ที่รวมกันเหล่านี้ ทำให้รูปแบบการร่ายรำของระบำเลอกอง ดูแปลกแตกต่างและมีมนต์ขลัง ไม่เหมือนการร่ายรำของประเทศอื่นๆในเอเชีย เป็นลักษณะการรำที่ดูเหมือนมีความร้อนแรงและร้อนรน ซึ่งบางคนเปรียบเทียบว่าเหมือนลักษณะการเคลื่อนไหวของแมลงและสัตว์ป่าท้องถิ่น


หากมองในปัจจุบัน เยาวชนบาหลีส่วนใหญ่ยังมีความฝันที่จะเติบโตเป็นนักระบำเลอกอง เพื่อสืบทอดศิลปะท้องถิ่น บางคนสนใจที่จะเข้าร่วมการแสดงในฐานะนักดนตรีวงกาเมลาน ไม่เหมือนกับที่อื่นๆของโลก วัฒนธรรมและศิลปะท้องถิ่นยังคงมีอิทธิพลต่อเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างมากบนเกาะบาหลี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เจริญเติบโต เด็กบางคนมีความหวัง ว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยพวกเขาสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว ด้วยการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์


ทุกๆปี ยังมีการจัดงานประกวดการแสดงระบำเลอกองระหว่างหมู่บ้านบนเกาะบาหลี เพื่อชิงรางวัลราคาแพง ซึ่งชาวบ้านต่างทุ่มเทเวลา แรงกาย และแรงใจ ฝึกซ้อมการแสดง เพื่อคว้าชัยชนะให้ได้


มีโรงเรียนฝึกสอนการแสดงระบำเลอกอง ทั้งบนเกาะบาหลี และที่สอนเป็นคอร์สออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจลองเรียนระบำท้องถิ่นชุดนี้ ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าถึงบทเรียนสอนการร่ายรำของมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลกอย่างหนึ่ง เช่น ระบำเลอกอง ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก

แม้ว่าทุกวันนี้ เกาะบาหลีจะเจริญก้าวหน้าไปมาก และแม้จะมีผู้คนใหม่ๆมากมายเดินทางมาเยือนที่เกาะแห่งนี้มากขึ้นทุกปี แต่มรดกทางวัฒนธรรมของเกาะที่ชื่อว่า ระบำเลอกอง ก็ยังแสดงตัวตนที่เด่นชัด คอยต้อนรับ และสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนอยู่เสมอมา ละครรำเลอกอง จึงไม่ใช่แค่การแสดง แต่มันคือเอกลักษณ์ ตัวตน และจิตวิญญาณ ของบาหลีอย่างแท้จริง

สำหรับเรื่องราวของระบำเลอกอง ผมก็ขอจบลงในตอนนี้เพียงเท่านี้ ครั้งหน้าคงได้มาเขียนเล่าเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมอื่นๆในส่วนอื่นๆของโลก ให้ได้อ่านกันอีก ถ้ามีโอกาสนะครับ สำหรับวันนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกันมากๆ โชคดี สวัสดีปีใหม่ทุกคนนะครับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เชียงตุงและเมืองลา 2014

บ่อแก้วในวันฝนพรำ

My Family to Northeast Thailand in 1999