ระบำเลอกอง ศิลปะการแสดงที่งดงาม หนึ่งเดียวของบาหลี (ตอนที่ 1)


ตอนแรก ผมคิดว่าจะเขียนเรื่องระบำเลอกองในบล็อกนี้เฉพาะภาคภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่พ่อๆแม่ๆที่คอยติดตามอ่านงานเขียนของผมอยู่ ช่วงนี้หลายๆท่านก็อยู่บ้านยาวๆ มีเสียงบ่นว่าอยากจะอ่านบทความของผมที่เป็นภาษาไทยบ้าง งานเขียนของผมช่วงนี้เน้นไปที่เขียนนิยายเรื่องยาว ผู้ใหญ่บางท่านอาจจะยังไม่พร้อมมีสมาธิจะติดตามอ่าน เลยตัดสินใจแยกเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องราวท่องเที่ยว วัฒนธรรม ที่บล็อกนี้ เป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งด้วย เผื่อผู้ใหญ่ที่เคารพทุกท่านที่ยังไม่เคยได้อ่านบทความภาคอังกฤษ หรือสนใจอ่าน แต่ไม่สามารถทำความเข้าใจภาษา ได้ร่วมรับรู้ แบ่งปันประสบการณ์ เรื่องราวเหล่านี้ ที่คิดว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่มากก็น้อย ผมจะทยอยเขียนสลับกันไปเรื่อยๆ ระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อจบแต่ละหัวข้อหลักๆ ถ้ามีเวลาได้มาลงบทความที่นี่ตอนว่างๆนะครับ ตอนนี้จะขอเขียนเรื่องของระบำเลอกอง ที่เพิ่งลงภาคภาษาอังกฤษจบไปเมื่อครั้งที่แล้ว เป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง ก็จะลงเป็นตอนๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบเรื่องนี้ สำหรับวันนี้จะเริ่มตรงกับบล็อกภาษาอังกฤษของตอนระบำเลอกอง ตอนที่ 2 ครับ

สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อของระบำเลอกองมาก่อน มันคือ ละครรำพื้นเมืองของชาวบาหลี ครับ ซึ่งอย่างที่รู้กันว่า เกาะบาหลี เป็นเกาะแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศอินโดนีเซียนั้น ก็ประกอบไปด้วยหมู่เกาะต่างๆ หลายหมื่นเกาะ แต่ละเกาะก็จะมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปอย่างเห็นได้ชัดครับ ทำให้อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาที่สูงมาก ซึ่งเอกลักษณ์ที่เด่นชัดนี้ ก็พบได้ในเกาะบาหลีเช่นเดียวกันครับ

เกาะบาหลี เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ทางตะวันออกของเกาะชวาเพียงเล็กน้อย แต่วัฒนธรรมของที่นี่แตกต่างจากทางฝั่งชวาอย่างสิ้นเชิงเลยครับ พื้นที่นี้เป็นเขตการปกครองของจังหวัดบาหลี ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของบาหลีนับถือศาสนาฮินดู แตกต่างจากพื้นที่หมู่เกาะส่วนอื่นๆของอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาอิสลามครับ จึงมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่เหมือนที่อื่นของประเทศนี้ อิทธิพลของศาสนาส่งผลต่อรูปแบบวัฒนธรรมและความเชื่อของคนบนเกาะ ไล่เรียงตั้งแต่ ความเป็นอยู่ สถาปัตยกรรม บ้านเรือน ที่เดินทางไปที่ไหน ก็รู้สึกว่าสามารถพบเห็นบรรยากาศแบบนี้ได้เพียงที่บาหลีที่เดียวในโลก ไม่เว้นแม้แต่ การแสดงพื้นเมืองของที่นี่ ซึ่งคนที่ไปเที่ยวบาหลีบ่อยๆ มักจะมีภาพจำของการแสดงพื้นบ้าน ที่มักมาพร้อมกับเด็กสาวชาวพื้นเมือง แต่งกายสวยงามในชุดนางรำ พร้อมท่ารำที่ดูลึกลับ กับดนตรีที่ดูมีมนต์ขลัง หากใครพอจำภาพอันน่าประทับใจเหล่านั้นได้ คงจะรู้สึกได้ถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการร่ายรำในละครรำท้องถิ่น ที่มีชื่อว่า ระบำเลอกอง นั่นเองครับ

เลอกอง (Legong) เป็น ละครรำพื้นเมืองร่วมสมัยของชาวบาหลี ชื่อของมันมาจากการรวมคำสองคำที่เป็นภาษาอังกฤษ หนึ่งคือ คำว่า Leg ที่แปลว่า ขา อีกคำคือคำว่า Gong ที่แปลว่า ฆ้อง รวมกันจึงแปลได้ว่า การร่ายรำที่ใช้การเคลื่อนไหวของขาเพื่อให้เข้าจังหวะกับดนตรีที่บรรเลงด้วยการตีฆ้อง ซึ่งฆ้องที่กล่าวถึงในการรำเลอกองนี้ คือวงดนตรีกาเมลานพื้นบ้านของบาหลี โดยมีกลุ่มเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะและเครื่องกระทบที่ประกอบไปด้วยฆ้องและระนาดโลหะขนาดต่างๆ เป็นตัวให้จังหวะเพลงและบรรเลงเป็นโครงหลักของเพลงที่ใช้ในการร่ายรำละคร ซึ่งจังหวะของฆ้องแต่ละตัวจะถูกผู้เล่นแต่ละคนตีให้ดังซ้ำๆกันในแต่ละช่วง จนกลายเป็นเสียงจังหวะฆ้องที่ประสานกันอย่างน่าอัศจรรย์ โดยหลักแล้ว ระบำเลอกอง จะใช้นางรำที่เป็น เด็กผู้หญิงที่ยังอยู่ในพรหมจรรย์ ในการแสดง 3 คน 


ต้นกำเนิดของละครรำเลอกองนั้น ไม่มีหลักฐานบ่งบอกแน่ชัด สันนิษฐานแรก คาดว่าระบำเลอกองถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อใช้แสดงเป็นละครในวังของกษัตริย์ท้องถิ่น โดยเล่าว่า เมื่อเจ้าชายสุขาวดีเกิดอาการประชวรและนิมิตเห็นภาพของเทพธิดาสององค์ ร่ายรำตามท่วงทำนองของดนตรีกาเมลานอันแสนไพเราะ ครั้นพอหายจากอาการประชวร เจ้าชายจึงทรงรับสั่งให้มีการจัดการแสดงการร่ายรำนี้ขึ้นในชีวิตจริง


ข้อสันนิษฐานที่สอง ได้กล่าวไว้ว่า ระบำเลอกองนั้น ดัดแปลงมาจากระบำพื้นเมืองเก่าแก่ของบาหลีที่มีมาแต่ยุคโบราณ ซึ่งเป็นการร่ายรำเลียนแบบท่าทางของสัตว์พื้นเมืองชนิดต่างๆ เช่น นกพื้นถิ่น เป็นต้น รูปแบบของระบำดั้งเดิมที่ยังไม่ได้ถูกดัดแปลงนั้นมักใช้แสดงในพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมักจะมีเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณและการเข้าทรงเข้ามาเกี่ยวข้องในพิธีและการร่ายรำด้วย นางรำสองคนในพิธีมักจะทำหน้าที่เป็นร่างทรงและถูกเข้าสิงด้วยวิญญาณเทพเพื่อแสดงการร่ายรำต่อหน้าผู้คน บทละครดั้งเดิมมีเนื้อหาค่อนข้างยาวมาก ซึ่งในภายหลังได้ถูกย่อบทลงมา เพื่อใช้แสดงในที่สาธารณะ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกบทละครที่ถูกย่อลงมานี้ด้วยชื่อ ละครรำเลอกอง หรือระบำเลอกอง


ในอดีต ระบำเลอกอง เคยเป็นที่นิยมและสามารถขึ้นแสดงได้โดยเด็กผู้ชายเช่นเดียวกัน แต่ท่ารำของระบำชุดนี้ ก็ถูกพัฒนาต่อมาเพื่อให้นักแสดงที่เป็นเด็กผู้หญิงขึ้นรำมากกว่าในภายหลัง จนความนิยมที่ให้เด็กผู้ชายขึ้นรำนั้นเริ่มหายไป จนถึงยุคหนึ่ง จึงมีคำสั่งจากทางสำนักราชวังของบาหลี ว่าให้ยุติการขึ้นแสดงรำละครรำเลอกองโดยเด็กผู้ชาย และให้ใช้เด็กผู้หญิงขึ้นรำแทน ในส่วนของเด็กผู้หญิงที่เป็นตัวแทนขึ้นรำนั้น จะต้องเป็นเด็กผู้หญิงที่ยังอยู่ในวัยพรหมจรรย์เท่านั้น ในปัจจุบัน หญิงสูงวัยก็สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นนางรำของละครรำเลอกองได้เช่นเดียวกัน พวกเธอสามารถแสดงระบำเลอกองต่อหน้านักท่องเที่ยว ตราบใดที่พวกเธอเหล่านั้นยังคงรักษาพรหมจารีไว้ได้

สำหรับระบำเลอกองแล้ว เป็นการร่ายรำที่แสดงออกมาในรูปแบบของละครรำ ซึ่งเนื้อเรื่องที่ใช้ในการแสดงละครรำเลอกองนั้น มีสืบทอดกันมาหลายรุ่น รวมแล้วบันทึกได้ในปัจจุบันมีมากกว่า 15 บทละคร ซึ่งนักแสดงจะแสดงละครรำเหล่านี้ต่อนักท่องเที่ยว เป็นจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก จะมีบางบทละครที่เก็บรักษาไว้เพื่อเอาไว้ใช้แสดงเฉพาะในพิธีศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณวัดเท่านั้น และบางเนื้อเรื่องก็ใช้แสดงเฉพาะเวลาเทศกาลสำคัญของเกาะบาหลี ซึ่งจัดเป็นพิธีกึ่งบูชา บทละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของละครรำเลอกองนั้นได้รับอิทธิพลมาจากเกาะชวาตะวันออกที่อยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับมหากาพย์รามายณะของอินเดีย ที่ชาวบาหลีได้รับสืบทอดมาจากอิทธิพลทางศาสนาฮินดู อิทธิพลของบทละครและศิลปะที่มีความสัมพันธ์มาจากเกาะชวาตั้งแต่ครั้งโบราณ เป็นหลักฐานอีกอย่างที่บ่งบอกได้ว่า ครั้งหนึ่ง ศาสนาพุทธ และฮินดู ก็เคยมีอิทธิพลบนเกาะชวา ดั่งเช่นที่มีปรากฏร่องรอยอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ปราสาทปรัมบานัน และบุโรพุทโธ ก่อนการมาถึงของศาสนาอิสลามในช่วงศตวรรษที่ 13


หนึ่งในบทละครเลอกอง ที่มีเนื้อเรื่องมาจากมหากาพย์รามายณะ หรือ ที่ไทยเรารู้จักกันในชื่อ รามเกียรติ์ มีชื่อเรียกว่า "เลอกอง โจบอก" หรือ "พระราชาลิง" เป็นเนื้อเรื่องที่ยกเนื้อหาส่วนหนึ่งจากเรื่องเล่าในมหากาพย์รามายณะ เกี่ยวกับพระราชาสององค์ ที่ถูกสาปให้เป็นลิง จนค่อยๆลืมสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ไป สุดท้ายลิงสองตัวก็สู้กันเอง จนนำมาสู่ตอนจบของเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจ ผมได้นำตัวอย่างวิดีโอการแสดง เลอกอง โจบอก จากยูทูป มาให้ทุกท่านได้ชมกันด้านล่างนี้ เครดิตวิดีโอเป็นของเจ้าของวิดีโอทั้งหมดครับ มาดูกันนะครับ ว่าเนื้อเรื่องเป็นไปตามที่ได้เข้าใจกันไหม ผมว่าดูไป นั่งคิดไปตามท่าทางและเนื้อเรื่องไปด้วย ก็รู้สึกสนุกสนานและน่าสนใจดีครับ 


อีกหนึ่งบทละครเลอกอง จากมหากาพย์รามายณะ มีชื่อเรียกว่า "เลอกอง ลาเสิม" เป็นเรื่องราวของกษัตริย์แห่งอาณาจักรมัชปาหิต บทละครเน้นแสดงเพียงบางส่วนจากเรื่องราวทั้งหมดในบทของกษัตริย์มัชปาหิตที่เป็นแค่ส่วนเล็กๆของเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ เรื่องเริ่มเล่าจากตอนที่ พระราชา นามว่า ลาเสิม ลักพาตัว เจ้าหญิง รังคสิริ ซึ่งเจ้าหญิงนั้น มีคนที่ตนรักอยู่แล้ว คือ เจ้าชาย ปันจิ พระราชากับเจ้าชายจึงประกาศสงครามเพื่อแย่งชิงตัวเจ้าหญิงและเพื่อเอาชนะหัวใจของเจ้าหญิง แต่ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้พระราชา ลาเสิม ได้เจอกับพญาครุฑที่กำลังพยายามหาทางช่วยเจ้าหญิง และได้ลงมือฆ่าพญาครุฑตัวนั้น ซึ่งผลกรรมจากการฆ่าพญาครุฑตัวนั้น ได้ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่พระราชาไม่คาดคิด จนทำให้เป็นฝ่ายต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ในที่สุด

วิดีโอที่นำมาให้ชม เป็นการแสดงละครรำเลอกอง ที่ใช้บทละคร เลอกอง ลาเสิม เป็นวิดีโอต่อเนื่องกันสองตอน เครดิตต่างๆเป็นของเจ้าของวิดีโอทั้งหมดครับ


บทละครรำเลอกอง ยังมีเนื้อเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจอีกมาก นอกเหนือจากเนื้อเรื่องที่ยึดจากมหากาพย์รามายณะแล้ว ยังมีเนื้อเรื่องบทละครที่อิงจากความเชื่ออื่นๆทางศาสนาฮินดูอีกสองสามเนื้อเรื่อง ซึ่งผมจะนำมาเขียนแนะนำให้ได้อ่านกันในตอนต่อไปครับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เชียงตุงและเมืองลา 2014

บ่อแก้วในวันฝนพรำ

My Family to Northeast Thailand in 1999