Pansori: จิตวิญญาณการเล่าเรื่องที่เป็นมรดกของเกาหลี
หากพูดถึงศิลปะทางดนตรีของเกาหลีนั้น ทุกคนย่อมรู้จักดนตรี K-Pop ที่โด่งดังไปทั่วโลกอยู่แน่นอนแล้ว แต่เกาหลีนั้น ก็มีมรดกทางวัฒนธรรมดนตรี ที่เก่าแก่มาแต่โบราณนานกว่านั้นมาก หลายๆคนอาจจะยังไม่เคยรู้จักถึงการแสดงดนตรีเช่นนี้ ซึ่งบางประเภทนั้น ชาวเกาหลีใต้ยกย่องให้เป็นมรดกของชาติ ที่ควรอนุรักษ์ไว้ในบัญชีเลยทีเดียว และต้องผ่านการฝึกฝน จนมีความรู้ความสามารถอย่างเชี่ยวชาญ จึงจะแสดงออกมาได้อย่างถูกต้อง วันนี้ผมจะมาเขียนให้ได้อ่านกันคร่าวๆ เกี่ยวกับการแสดงการเล่าเรื่องทางดนตรีชนิดหนึ่งของเกาหลี ที่เรียกว่า Pansori ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากองค์กร UNESCO ด้วย
การแสดง Pansori นั้นคือการเล่าเรื่องผ่านบทละครเสียงร้อง ที่ร้องประกอบกับเสียงกลอง และการร่ายรำด้วยพัด ชื่อเรียกนั้นประกอบขึ้นมาจากคำในภาษาเกาหลีสองคำ คือคำว่า Pan ซึ่งมีความหมายได้สองนัยยะว่า "การรวมตัวของผู้คน" หรือ "บทเพลงที่มีหลากหลายสีสัน" ส่วนคำว่า Sori นั้นหมายถึง เสียง การแสดงนั้นอาจกินความยาวนานถึงหลายชั่วโมง บางครั้งมากกว่าแปดชั่วโมงต่อหนึ่งบทละคร ผู้แสดง Pansori จะร้องเพลงตามเนื้อบทละคร โดยสื่อสารอารมณ์ผ่านท่วงทำนอง ที่ขึ้นลงตามอารมณ์ของตัวละครและสถานการณ์ในเรื่อง เช่น สุข เศร้า โกรธ หรือการเลียนเสียงต่างๆ ประกอบไปกับการร่ายรำและเคลื่อนไหวร่างกาย โดยอาจมีพัดเป็นตัวช่วยในการสื่อสารด้วย ท่วงทำนองของบทละครนั้น จะเล่นไปตามจังหวะของเสียงกลอง ที่ตีเป็นช่วงๆโดยผู้เล่นกลอง การแสดงนั้นสืบทอดกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ต้นกำเนิดของ Pansori สันนิษฐานว่ามาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลี โดยพัฒนามาจากบทเพลงของหมอผี การแสดงถูกสืบทอดโดยการบอกเล่าในหมู่คนทั่วไป จนถึงปลายศตวรรษที่สิบเก้า หลังจากนั้นก็ถูกปรับปรุง ให้เป็นการแสดงที่มีเนื้อหาทางวรรณกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น มีบทละคร Pansori ไม่กี่บทที่ถูกแต่งและเหลืออนุรักษ์ไว้แสดงอยู่ โดยสำนักแสดง Pansori ไม่กี่สำนักในเกาหลียุคปัจจุบัน ในหนึ่งบทละครอาจประกอบกันด้วยเพลงหลายเพลง ในช่วงศตวรรษที่ 18 มีการแต่งบทละคร Pansori ขึ้นมาทั้งหมด 12 บท ซึ่งทุกวันนี้มีเพียง 5 บทเท่านั้น ที่ยังถูกใช้ในการแสดงอยู่ คือ บทที่เรียกว่า Chunhyangga, Simcheongga, Heungbuga, Sugungga และ Jeokbyeokga การแสดง Pansori ยุคใหม่อาจจะไม่ได้แสดงบทละครครบจนจบทั้งบท ซึ่งอาจกินเวลามากถึงสิบกว่าชั่วโมง นักแสดงอาจตัดการแสดงมาแค่ส่วนสำคัญบางตอนที่น่าสนใจ เพียงแค่สิบนาทีเท่านั้น ดั่งเช่นในวิดีโอที่น่าสนใจที่ตัดมาจาก 5 บทดังกล่าวเหล่านี้
ส่วนประกอบของการแสดง Pansori มีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ นักแสดง ซึ่งเป็นผู้ร้องบทละคร ทำหน้าที่สื่อสารอารมณ์ของตัวละครและบทละคร ด้วยการร่ายรำของพัดในมือขวา รวมถึงการร้องเพลง และการพูดบรรยาย ส่วนที่สองคือ คนตีกลอง คือผู้ให้จังหวะด้วยกลองพื้นบ้านของเกาหลี ทำหน้าที่สื่อสารอารมณ์ของบทละคร ด้วยจังหวะของเสียงกลอง ประกอบไปกับการแสดงเสียง และท่าทางของผู้แสดงในส่วนที่หนึ่ง และส่วนสุดท้าย ที่สำคัญเช่นกัน คือ ผู้ชม ที่สร้างบรรยากาศครึกครื้นให้กับการแสดง
ในส่วนของดนตรีในการแสดง Pansori มีส่วนที่ประกอบขึ้นมาทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเรียกว่า Jo เปรียบถึง ภาพรวมของท่วงทำนองในการแสดง ซึ่งในลักษณะดนตรีตะวันตก มักจะเกี่ยวข้องกับทฤษฎีของ Mode (ช่วงโน้ต) และ Key (กลุ่มของช่วงโน้ต) ในขณะที่คำว่า Jo มักจะมองกันที่ ภาพรวมของช่วงอารมณ์และโทนเสียงที่ใช้ในการแสดงมากกว่าครับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์การแสดงมากกว่า ส่วนที่สอง คือ Jangdan คือช่วงจังหวะ เป็นตัวบ่งบอกสถานะอารมณ์ที่กำลังแสดงในขณะนั้น เป็นจังหวะที่ตีประกอบการร้องหรือพูดของนักแสดงครับ ส่วนที่สาม เรียกว่า Buchimsae คือ ท่วงทำนอง ครับ หมายถึง เนื้อร้องที่ประกอบขึ้นกับทำนองที่มีตัวโน้ตขึ้นลง ส่วนที่สี่ คือ การผลิตเสียงครับ หมายถึง กระบวนการขั้นตอนการสื่อสารด้วยเสียง ที่ใช้ในการแสดงแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดเป็นการแสดงที่สมบูรณ์ และในส่วนที่ห้าเรียกว่า Je นั่นคือ โรงเรียนที่สอนการแสดง Pansori นั่นเองครับ ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีการแบ่งสายสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับภูมิภาคต้นทาง แต่ละโรงเรียนจะสอนรูปแบบการร้อง และทฤษฎีเพลงที่แตกต่างกันออกไป ตามพื้นถิ่นของตนครับ โดยความแตกต่างนี้ ขึ้นอยู่กับระบบการสืบทอด ที่แตกออกเป็นกิ่งก้านสาขากระจายไปตามแต่ละภูมิภาคในเกาหลีครับ
การแสดง Pansori สามารถสื่อสารอารมณ์กับผู้ชมได้หลากหลาย ทั้งโกรธ เศร้า สนุกสนาน ผ่านเรื่องเล่าต่างๆ ตลอดการแสดง เรื่องราวที่ประพันธ์ขึ้นเป็นบทละคร Pansori ล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางศีลธรรมที่ชัดเจนของผู้คน ซึ่งล้วนแต่ให้ข้อคิด และบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องเวรกรรม อันสะท้อนถึงความเชื่อของชาวเกาหลียุคโบราณได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวในส่วนของ Chunhyang ที่เล่าถึงเด็กสาวที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ต้องเปลี่ยนตัวเอง หลังจากต้องแต่งงานกับลูกชายของผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อมาเธอต้องต่อสู่กับความกดดันจากผู้ว่าการอีกคนหนึ่ง เรื่องราวจบลงด้วยการช่วยเหลือของสามีของเธอ เมื่อเธอแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ ความรัก และความสามัคคีของบุคคลจากชนชั้นทางสังคมระดับต่างๆ อีกเรื่องราวหนึ่งคือเรื่องราวของ Simcheongga ซึ่งให้ข้อคิดเรื่องความกตัญญูกตเวที ความบริสุทธิ์ทางเพศ และความเข้มแข็ง เรื่องเล่าถึงตัวละครหลักที่ได้รับการปลดปล่อยจากราชาแห่งท้องทะเล ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เธอได้พบและแต่งงานกับกษัตริย์จากอาณาจักรของเธอ เธอได้เสียสละตัวเองเพื่อรักษาเขาให้หายจากอาการตาบอด และเธอก็ยังรักษาพ่อของเธอให้หายจากอาการตาบอดเช่นเดียวกัน และเรื่องราวของความโลภของมนุษย์เช่นในบทของ Heungboga ที่ช่วยเหลือนกนางแอ่นขาหัก เขาก็ได้รับผลตอบแทนเป็นกรรมดี ส่วนพี่ชายของเขาที่หักขานกนางแอ่น ก็ต้องชดใช้กรรม เป็นบทละครที่ส่งเสริมคุณธรรมและความดีงาม รวมถึงให้ข้อคิดเรื่องกรรมอีกด้วย
ผู้แสดง Pansori ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนั้น มีเหลืออยู่ไม่มากนัก หลังจากที่การแสดงเริ่มลดความนิยมลงในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่ก็เริ่มกลับมามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ในประเทศเกาหลีเหนือยังไม่ค่อยมีการสนับสนุนการอนุรักษ์การแสดงนี้อย่างเป็นทางการ เพราะเชื่อว่า การแสดง Pansori นั้นไม่ค่อยดึงดูดต่อคนรุ่นใหม่และเข้าถึงยาก ขณะที่ในทางประเทศเกาหลีใต้นั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ได้แต่งตั้งนักแสดง Pansori ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้เป็น สมบัติที่ยังของชาติที่ยังมีชีวิตอยู่ และแต่งตั้งให้การแสดง Pansori เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ แม้การแสดงนั้นถูกจำกัดความนิยมส่วนใหญ่ อยู่ในแวดวงผู้สูงอายุ นักศึกษาวิชาดนตรีพื้นบ้าน และผู้ที่สนใจจริงๆเท่านั้น แต่ก็ยังมีกระแสของดนตรี Pansori ร่วมสมัย ที่นำดนตรีในการแสดง Pansori มาผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ประเภทอื่นๆ อย่างเช่น แนวคลาสสิก เร้กเก้ หรือแนวแร็ป เป็นต้น กระแสเหล่านี้เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นปี 90 และยังคงมีมาต่อเนื่องจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งสามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำความรู้จักกับการแสดงประเภทนี้ได้มากขึ้นบ้าง จนทุกวันนี้ มีรายการเพลงสมัยใหม่ นำการแสดง Pansori ออกฉายทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์มากขึ้น นับเป็นแสงสว่างของการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมนี้ของเกาหลีให้เป็นที่สนใจอีกครั้ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น